ท่านผู้อ่านสงสัยไหมว่า ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมีบทบาทและหน้าที่อะไรบ้าง?
ล่าสุด Michael Porter และ Nitin Nohria ก็ได้ทำการศึกษาการแบ่งและใช้เวลาของบรรดา CEO และสรุปออกมาเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้นำสูงสุดขององค์กร ซึ่งทั้งคู่มองว่า CEO นั้นสามารถที่จะมีอิทธิพล (Influence) ต่อการดำเนินงานขององค์กรได้ใน 6 มิติ และแต่ละมิติก็มี 2 มุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่ง CEO ที่ดีจะต้องตระหนักและเข้าใจถึงความแตกต่างของทั้ง 2 มุมมองในแต่ละมิติ
มิติแรก CEO เป็นผู้ที่อิทธิพลโดยตรงต่อเรื่องราวต่างๆ ในองค์กร ผ่านการสั่งการ การประชุม ฯลฯ อย่างไรก็ดี CEO ไม่สามารถเข้าไปยุ่ง วุ่นวายกับทุกๆ เรื่องภายในองค์กรได้ ดังนั้น CEO จะต้องรู้จักที่จะใช้อิทธิพลทางอ้อมเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน โดยอิทธิพลทางอ้อมนั้นสามารถที่จะผลักดันผ่านทางกลยุทธ์ ค่านิยม กระบวนการในการทำงานต่างๆ เพื่อให้การทำงานของทั้งองค์กรสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
มิติที่ 2 การทำงานของ CEO นั้นจะต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ภายในองค์กรเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CEO ที่ดีจะต้องไปมีปฏิสัมพันธ์ และ เชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆ ภายนอกองค์กร CEO ที่ดีจะต้องสามารถเชื่อมระหว่างภายนอกกับภายในให้ได้ โดยนำมุมมองจากภายนอกเข้ามามีส่วนต่อการทำงานภายในขององค์กร อีกทั้งจะต้องทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจถึงงาน ความสำคัญ และผลลัพธ์ของสิ่งที่องค์กรทำ
มิติที่ 3 งานของ CEO ส่วนใหญ่เป็นงานเชิงรุก CEO จะต้องมีการตั้งเป้าหมายและขับเคลื่อนงานต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกัน CEO ก็ต้องพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์และปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น CEO ที่ทำแต่งานเชิงรุกอย่างเดียว โดยไม่สนใจต่อสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ก็อาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวของทั้ง CEO และองค์กรได้
มิติที่ 4 CEO มีอำนาจที่จะสั่งการในเรื่องต่างๆ ได้ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของความเป็นผู้นำองค์กร แต่ในความเป็นจริงนั้นจะพบว่ามีข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่างๆ มากมายต่อการใช้อำนาจหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันของผู้บริหารระดับรอง หรือ บอร์ด ดังนั้น CEO ที่ดีจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจที่ตนเองมีอยู่ กับการให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นหรือความรู้สึกของบุคคลอื่นในองค์กรด้วย มิฉะนั้นการต่อต้านจากคนอื่นๆ ภายในองค์กรก็อาจจะเกิดขึ้น
มิติที่ 5 การตัดสินใจของ CEO ในเรื่องต่างๆ นั้นมีทั้งส่วนที่จับต้องหรือเห็นภาพได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์ เป้าหมาย งบประมาณ การเลือกคน แต่ในอีกมุมหนึ่ง พบว่าอิทธิพลที่สำคัญของ CEO จะมาจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ของ CEO (ทั้งสิ่งที่ทำหรือไม่ได้กระทำ) ซึ่งส่งผลต่อความคิด ทัศนคติ และ พฤติกรรมของคนในองค์กร โดยไม่รู้ตัว เช่น การแต่งกาย รถที่ขับ สถานที่รับประทานอาหาร การดูแลสุขภาพ หรือแม้กระทั่งรูปลักษณ์ (ความอ้วน-ผอม) ของ CEO ก็ส่งสัญญาณต่อบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งต่างๆ ที่ CEO กระทำหรือไม่กระทำ อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานของพฤติกรรมของคนในองค์กรต่อไป
มิติที่ 6 ถึงแม้ CEO จะมีอำนาจที่มาจากหน้าที่ตามตำแหน่ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง CEO ที่ดีจะต้องผสมผสานระหว่างอำนาจหน้าที่ กับ ความเชื่อใจและความไว้วางใจที่ได้รับจากบุคคลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งความไว้วางใจและเชื่อใจนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการแสดงออกถึงค่านิยมอันดีงาม จริยธรรม ความยุติธรรม รวมถึงการทำเพื่อองค์กรโดยไม่เห็นแก่ตนเอง ซึ่งความไว้ใจและเชื่อใจนี้ ทำให้คนเกิดแรงจูงใจสูงกว่าอำนาจหน้าที่เพียงอย่างใดและมีส่วนช่วยนำองค์กรสู่ความสำเร็จได้
จะเห็นได้ว่าบทบาท หน้าที่ของ CEO ทั้ง 6 มิตินั้น มี 2 มุมมองให้ต้องขบคิดเสมอ และขณะเดียวกันก็มองว่าบทบาททั้ง 6 มิตินั้น ไม่ใช่สำหรับเพียงแค่ CEO อย่างเดียว คนที่จะเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าหน่วยงานเอกชนหรือราชการ ก็ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อมุมมองที่แตกต่างกันของบทบาททั้ง 6 ประการ