เรามักจะมีความเชื่อว่า การจะเป็นซีอีโอ หรือผู้นำระดับสูงที่ประสบความสำเร็จขององค์กรได้นั้น ควรจะมีคุณลักษณะร่วมบางประการ
เช่น เรียนจบมาจากสถาบันดีๆ หรือเป็นคนที่มีลักษณะ extroverts ที่ชอบเจอคนอื่นๆ ชอบพูดคุยสังสรร แม้กระทั่งเคยมีคนเล่า(แกมประชด) ให้ผมฟังว่า การจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในไทยได้จะต้องมีคุณลักษณะ 4 ข้อใดข้อหนึ่ง คือ นิยมการดื่มกาแฟ ชอบตีกอล์ฟ มีความสามารถในการร้องคาราโอเกะ หรือชอบดื่มไวน์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศนั้นได้มีความพยายามในการเก็บข้อมูลจากบรรดา CEO ทั้งหลาย และพยายามถอดรหัสว่า บรรดา CEO ทั้งหลายนั้นควรจะมีพฤติกรรมอะไรบ้าง(ชื่อโครงการ CEO Genome Project)
ผลจาก CEO Genome Project ดังกล่าวได้พบว่าจริงๆ แล้วคนที่จะเป็น CEO ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมหรือคุณลักษณะตามที่เราเคยเข้าใจเลย เช่น ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาจากสถาบันดีๆ ดังๆ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะต้องเป็นผู้นำสูงสุด หรือ กว่า 1 ใน 3 เป็นคนที่มีลักษณะ Introverts (ไม่ชอบสุงสิง ชอบอยู่เงียบๆ) และพบว่าจริงๆ แล้วคนที่เป็น CEO นั้นจะมีพฤติกรรมที่แสนจะง่ายๆ ธรรมดาอยู่ 4 ประการ และพฤติกรรมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถที่จะมีหรือสร้างขึ้นมาได้
พฤติกรรมแรกเรียกว่า Decisiveness หรือ การตัดสินใจที่รวดเร็ว โดยพบว่า CEO ที่ประสบความสำเร็จนั้นจะถูกประเมินว่าเป็นผู้ที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และ CEO เหล่านั้นมองว่า การพยายามทำอะไรให้สมบูรณ์แบบนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนต่อความสำเร็จในสภาวะปัจจุบันเลย การตัดสินใจที่รวดเร็วนั้นมักจะเกิดจากการมีเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจที่ชัดเจน การที่ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในทุกเรื่อง โดยมอบหน้าที่ในการตัดสินใจในงานบางอย่างให้กับคนอื่นภายในองค์กร และ การอย่าไปคาดหวังว่าถูกต้องสมบูรณ์ 100% จากการตัดสินใจครั้งแรก แต่ต้องก้าวเดินต่อและค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
พฤติกรรมประการที่ 2 เรียกว่า Adapting Boldly ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะทางธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้นำจะต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง CEO ที่ดีจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ และโอกาสในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งจะต้องไม่ท้อถอยหรือหมดกำลังใจเมื่อล้มเหลว
พฤติกรรมประการที่ 3 เรียกว่า Relentless Reliability หรือการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะความเชื่อถือไว้วางใจ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของความสำเร็จ โดยเฉพาะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ CEO ทำขึ้นโดยไ่ม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความตรงต่อเวลา หรือการสื่อสารที่จริงใจ จริงๆ แล้วหลักสำคัญที่ง่ายที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือ คือการทำในสิ่งที่พูดไว้ว่าจะทำ อีกทั้งความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของสิ่งที่ทำ ก็จะทำให้เกิดการยอมรับและไว้วางใจจากลูกน้องได้มากขึ้น
พฤติกรรมประการสุดท้ายเรียกว่า Engage for impact ซึ่งผู้นำจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และบางครั้งความต้องการของแต่ละกลุ่มก็อาจจะขัดแแย้งกันเองและขัดแย้งกันเอง ซึ่งบทบาทของ CEO คือจะต้องทำให้ทุกกลุ่มเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และสุดท้ายทุกคนจะต้องทำเพื่อเป้าหมายขององค์กร โดยวิธีการที่ CEO ที่ประสบความสำเร็จใช้คือวิธีการง่ายๆ อย่างเรื่องของการสื่อสาร และสื่อสารอยู่เป็นประจำกับกลุ่มบุคคลต่างๆ
นอกเหนือจากพฤติกรรมทั้ง 4 ประการข้างต้นแล้ว ผลการศึกษานี้ยังพบว่าความผิดพลาดส่วนใหญ่ (75%) ที่บรรดา CEO มักจะกระทำผิดพลาดคือ การเลือกคนผิด เนื่องจากคุณภาพของคนที่มาร่วมทีมนั้นจะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กรเลยทีเดียว
ผลการศึกษาจาก CEO Genome Project นั้นทางผู้วิจัยทั้ง 2 คนคือ Kim Powell และ Elena Botelho ได้รวบรวมเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The CEO Next Door ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองไปหาอ่านกันต่อได้นะครับ